วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ศิลปะการแทงหยวก

 
             ศิลปะการแทงหยวก   

          ศิลปะการแทงหยวก เป็นงานฝีมือช่างประเภทหนึ่งที่อยู่ในช่าง สิบหมู่ ประเภทช่างสลักของอ่อน ย้อนหลังไปประมาณ 20-30 ปี ขึ้นไป มีประเพณีที่เกี่ยวกับการแทงหยวกอยู่ 2 อย่าง คือ การโกนจุกเเละการเผาศพ (โดยเฉพาะศพผู้ที่มีฐานะปานกลาง)
          รูปแบบและลวดลายศิลปะการแทงหยวก
          ลายที่ใช้ในการแทงหยวก นิยมใช้ลายไทยมาแต่โบราณ ลายที่ใช้เป็นลายมาตรฐานที่ใช้สำหรับแทงหยวก ในปัจจุบันก็ยังใช้ลายลักษณะลายไทยแบบดั้งเดิมอยู่ อาจจะมีการประยุกต์ลายขึ้นใหม่บ้าง แต่ก็ยังคงยึดหลักของลายไทยลายต่าง ๆ ที่ใช้ในการแทงหยวก มีดังต่อไปนี้
ลายฟันหนึ่ง
ลายฟันหนึ่งมีหนึ่งยอดเป็นลายแทงหยวกที่ใช้กันในทุกท้องถิ่น ขนาดของฟัน มีทั้งฟันเล็กและฟันใหญ่ ลายฟันหนึ่งขนาดเล็กนิยมเรียกว่า ลายฟันปลา ลายฟันหนึ่งเป็นลายที่นำไปประกอบส่วนในสุดของส่วนฐานหรือส่วนเสา สำหรับส่วนฐานนั้น ลายฟันหนึ่งคั่นอยู่ระหว่าง
ลายหน้ากระดานกับลายฟันสามและฟันห้า สำหรับส่วนเสานั้น ลายฟันหนึ่งจะอยู่ระหว่างลายน่องสิงห์กับลายเสาลายฟันหนึ่ง เป็นลวดลายเบื้องต้นที่ผู้เริ่มฝึกหัดใหม่จะต้องฝึกฝนให้มีความชำนาญ การฝึกหัดแทงลายฟันหนึ่งที่ถูกต้องนั้น ขนาดของฟันจะต้องมีขนาดเท่ากันทุกซี่ จะต้องแทงให้เป็นเส้นตรงเดียวกัน ไม่คดโค้งหลักสำคัญอีกประการหนึ่งในการฉลุลายฟันหนึ่ง ก็คือ จะต้องฉลุให้ทั้งสองด้านเท่ากัน
ลายฟันสาม
ลายฟันสามมีสามยอด เป็นลายอีกแบบหนึ่งที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ในทุกท้องถิ่นขนาดของลายฟันสามโดยทั่ว ๆ ไป คือ กว้างประมาณ 8 เซนติเมตร สูงประมาณ 7 เซนติเมตร ลายฟันสามนี้ใช้สำหรับประกอบที่ส่วนฐานชั้นล่างและฐานชั้นบนของเมรุ
ลายฟันห้า
ลายฟันห้ามีห้ายอด เป็นลวดลายที่ใช้ประกอบในส่วนฐาน เช่นเดียวกับลายฟันสาม ลายฟันห้ามีขนาดใหญ่กว่าฟันสามเล็กน้อย คือ ส่วนกว้างประมาณ 9 เซนติเมตร สูงประมาณ 8 เซนติเมตรการแทงลายฟันห้า ที่ยากกว่าลายฟันสาม ก็คือ ต้องแทงหยักถึง 5 หยัก ทำให้หยักด้านขวาและด้านซ้ายมีขนาดไม่เท่ากัน และโดยเหตุที่ลายฟันห้ามีขนาดใหญ่ ในการแรจึงจำเป็นต้องสอดไส้ทำให้ได้ลวดลายที่สวยงามยิ่งขึ้น

ลายหน้ากระดาน
ลายหน้ากระดานประกอบด้วย ลายรักร้อย ลายรัดเกล้า ลายกนกเปลว ลายลูกฟักก้ามปู ลายกนกใบเทศ ลายเถา ลายเสาต่อยอด ลายเสาหางโต คือลายที่มีการพัฒนามาจากลายพื้นฐานที่แทงขึ้นให้เกิดลวดลายนำไปปิดทับบนแผ่นพนังของการประกอบหยวก มีลักษณะการแทงลงบนกาบกล้วยให้เกิดเป็นช่องของลวดลาย โดยไม่แยกออกจากตัวกาบกล้วยจะเกิดลายติดอยู่บนกาบกล้วย และจะเกิดช่องแสงหรือช่องว่าง ส่วนใหญ่ลวดลายที่ได้นั้นมีแนวคิดและรูปแบบมาจากธรรมชาติ









ลายน่องสิงห์หรือแข้งสิงห์
ลายน่องสิงห์เป็นลายที่ใช้กับส่วนที่เป็นเสา ลายชนิดนี้ใช้กันในทุกท้องถิ่น ไม่แตกต่างกัน การแทงลายน่องสิงห์นั้น ความยากอยู่ที่ต้องให้ทั้งสองด้านเท่ากันกล่าวคือ เมื่อฉลุเพียงครั้งเดียว จะได้ผลงานถึงสองชิ้น เมื่อฉลุเสร็จแล้ว ต้องมีการแร และย้อมสีเพื่อความสวยงามเท่านั้น ลายน่องสิงห์ สามารถแยกลายออกจากกัน นำมาใช้ได้ทั้ง 2 ด้าน เหมือนลายฟันหนึ่ง ลายฟันสาม และลายฟันห้า แต่ลายน่องสิงห์เป็นลายตั้งประกอบเป็นเสาด้านซ้ายและด้านขวา ในหยวก 1 อันแทงเป็นด้านขวา เมื่อแยกด้านขวาออกจากกันก็จะได้ด้านขวาเหมือนกันทั้ง 2ชิ้น ต้องแทงด้านซ้ายอีกครั้งหนึ่ง
ลายเสา  
ลายเสาเป็นลายที่มีความสำคัญ เนื่องจากการแทงกระทำได้ยาก เช่นเดียวกับลายหน้ากระดานส่วนฐาน สำหรับลายเสานี้มีการออกแบบลวดลายแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งมีการแสดงฝีมือกันเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับลายหน้ากระดานในส่วนฐานเช่นกัน ลายเสาที่ใช้กันอยู่โดยทั่ว ๆ ไป เช่น ลายมะลิเลื้อยประเภทต่าง ๆ ลายเสารูปกนก ลายเสารูปสัตว์เป็นต้น
ลายกระจัง
ลายกระจังเป็นลายที่ใช้ประกอบกับลายฟันสามและลายฟันหนึ่ง ไม่นิยมใช้กับส่วนที่เป็นฐาน เนื่องจากลายกระจังรวนเป็นลายแบบบัวคว่ำ นิยมใช้กับส่วนบนและส่วนกลางเท่านั้น มีหลายชนิด เช่น กระจังรวน กระจังใบเทศ เป็นต้น